ทีม “มิตร” ม.ธรรมศาสตร์ คว้าชัยชนะจากโครงการแค่ใจก็เพียงพอ มุ่งแก้ปัญหาขยะอย่างยั่งยืน

Last updated: 30 พ.ย. 2566  | 

ผลงานอิฐบล๊อกเรืองแสงจากเปลือกหอยนางรมสร้างสรรค์โดยทีม “มิตร” นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งออกแบบมาเพื่อเป็นรายได้เสริมให้แก่ชุมชนบ้านตะกาดเง้าในจังหวัดจันทบุรี ได้รับรางวัลชนะเลิศจากนวัตกรรมชุมชนจาก “โครงการแค่ใจก็เพียงพอประจำปี 2562” ของนิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทย โครงการแค่ใจก็เพียงพอที่สนับสนุนให้นักศึกษาได้ออกแบบและสร้างสรรค์การแก้ไขปัญหาขยะ และของเหลือใช้ เพื่อส่งเสริมรายได้ในชุมชนอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤตที่ชุมชนอาจได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019


ราเมช นาราสิมัน ประธานนิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า ด้วยแนวคิดของทีม “มิตร” ผู้ชนะเลิศในครั้งนี้ ที่สร้างสรรค์และบูรณาการนวัตกรรมเพื่อสังคม และการพัฒนาอย่างยั่งยืนเข้าด้วยกัน ในการนำเปลือกหอยนางรมเหลือทิ้งจำนวนมาก มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่จะสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดและสามารถขายเป็นรายได้เสริมให้กับชุมชนได้ โดยผลงานผลิตภัณฑ์ที่ชนะเลิศจากทีม “มิตร” คือ "อิฐ อึด อึด" และ "ทางเดินวิบวับ" ซึ่งเป็นอิฐบล๊อกที่มีส่วนผสมจากเปลือกหอยนางรมและคอนกรีต อิฐปูทางเดินเรืองแสง ซึ่งสามารถนำไปใช้สำหรับการตกแต่งสวน ใช้ในการก่อสร้าง หรือการสร้างถนน ซึ่งความโดดเด่นนี้ เป็นการนำเปลือกหอยนางรมที่ถูกทิ้งไว้ในชุมชนมาใช้ได้อย่างชาญฉลาด ที่สำคัญคือ มีน้ำหนักเบากว่าผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในท้องตลาด ดูดซับน้ำน้อย มีความยืดหยุ่น ทำให้ไม่ลื่น รวมทั้งยังสามารถผลิตได้ในรูปทรงและขนาดที่หลากหลายได้



 

ทีม “มิตร” ได้รับเป็นทุนการศึกษาจำนวน 250,000 บาท พร้อมมอบเงินสนับสนุนการศึกษาอีก 50,000 บาท ให้แก่มหาวิทยาลัย เป็นรางวัลชนะเลิศจากนิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทย ในการช่วยแก้ไขปัญหาการจัดการขยะนี้ พร้อมทั้งช่วยเสริมรายได้ให้กับชุมชนบ้านตะกาดเง้าอีกด้วย


ทีมรองชนะเลิศอันดับหนึ่งคือ “กลุ่มใจ” จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งได้สร้างสรรค์บรรจุภัณฑ์จากขยะถุงพลาสติกในชุมชนบ้านน้ำใส จังหวัดจันทบุรี ให้สามารถใช้งานได้หลากหลาย เช่น เป็นบรรจุภัณฑ์ที่สามารถปกป้องลูกทุเรียนในการขนส่ง เนื่องจากไม่สามารถใช้บรรจุภัณฑ์ทั่วไปได้ รวมถึงยังสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้


ทีมรองชนะเลิศอันดับที่สอง “เดอะ แกลบ คราฟ” จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กับผลงานของที่ใช้สไตล์คราฟจากขยะพลาสติกหลายรูปแบบ ในชื่อ “สายคราฟ” เช่น คลิปหนีบปิดถุงรูปนก แท่นวางโทรศัพท์มือถือ รูปวาฬและปลาฉลาม โดยในแต่ละชุดจะใช้ขวดพลาสติกจำนวน 7 ขวดในการผลิต โดยจะนำรายได้ส่วนหนึ่งไปใช้ในการปลูกต้นไม้ในชุมชนบ้านน้ำใส จังหวัดจันทบุรี

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้