กองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย ร่วมสร้างฝาย ปลูกพันธุ์ไม้ที่ จ.น่าน

Last updated: 30 พ.ย. 2566  | 

กองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย ภายใต้มูลนิธิฮอนด้าประเทศไทย ร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ต่อยอดความสำเร็จจากการดำเนินงานด้านการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ ในพื้นที่ลุ่มน้ำปราจีนบุรี สู่การริเริ่มโครงการ "พัฒนาแหล่งน้ำตามแนวพระราชดำริพื้นที่ลุ่มแม่น้ำน่าน" โดยได้จัดกิจกรรมเชิญชวนอาสาสมัครพนักงานในกลุ่มบริษัทฮอนด้า พร้อมด้วย ผู้จำหน่ายรถยนต์และจักรยานยนต์ฮอนด้า และชุมชนท้องถิ่น ร่วมกิจกรรมในการฟื้นฟูพื้นที่ต้นน้ำ ตำบลบ่อเกลือใต้ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ด้วยการสร้างระบบน้ำเพิ่มความชุ่มชื้นในดินและการปรับปรุงดิน  ประกอบด้วยการสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้นในบริเวณลำห้วยจำนวน 5 ฝาย และการปลูกพืชอุ้มน้ำบริเวณร่องน้ำ เช่น กล้วยป่า กล้วยน้ำว้า และต๋าว เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ให้สามารถอุ้มน้ำได้ดีขึ้น เพื่อทำให้เป็นแผนแม่แบบการดำเนินงานฟื้นฟูเขาหัวโล้นเพื่อการพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำอื่นต่อไป



โครงการ "พัฒนาแหล่งน้ำตามแนวพระราชดำริพื้นที่ลุ่มแม่น้ำน่าน" มีระยะการดำเนินงาน 3 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 - พ.ศ.2562 โดยกองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทยให้การสนับสนุนงบประมาณรวม 12 ล้านบาท เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน ด้วยการพัฒนาศักยภาพชุมชนให้สามารถพัฒนาและบริหารจัดการน้ำได้ด้วยตนเอง และพร้อมขยายผลความสำเร็จสู่พื้นที่ใกล้เคียง คาดว่าหลังโครงการฯ แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2562 จะสามารถฟื้นฟูพื้นที่ที่ประสบปัญหาเขาหัวโล้นกว่า 3,000 ไร่ ให้กลับเป็นป่าต้นน้ำเหมือนเดิม ช่วยแก้ปัญหาภัยแล้ง ป้องกันดินถล่ม ส่งผลให้ประชากร 272 ครัวเรือนมีน้ำอุปโภค-บริโภค และทำการเกษตรตลอดทั้งปี โดยกิจกรรมในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานระยะที่ 1 (พ.ศ. 2560) ในการฟื้นฟูพื้นที่ต้นน้ำ ตำบลบ่อเกลือใต้ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน



จากการสำรวจพื้นที่ของมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) รวมทั้งชุมชนบ้านดงผาปูน ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นแบบในการแก้ปัญหาพื้นที่เขาหัวโล้นและการปลูกพืชไร่บนภูเขา ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พบว่า พื้นที่เขาส่วนใหญ่มีสภาพเป็นเขาหัวโล้น เนื่องจากชาวบ้านยังคงทำเกษตรแบบเชิงเดี่ยวในพื้นที่เขา อาศัยน้ำฝนเพียงอย่างเดียว ไม่มีระบบน้ำสำหรับปลูกไม้ผลไม้ยืนต้น จึงมีความจำเป็นจะต้องจัดการพื้นที่ป่าต้นน้ำด้วยการพัฒนาระบบน้ำ เพิ่มความชุ่มชื้นให้ดินด้วยฝายชะลอความชุ่มชื้น ปรับปรุงดิน ปลูกไผ่ กล้วยป่าและพืชเสริม โดยหลังจากพื้นที่ป่าต้นน้ำกลับคืนแล้ว จะมุ่งเน้นให้ในพื้นที่มีการปรับปรุงพื้นที่การเกษตรทั้งแนวราบและแนวสูง ปรับเปลี่ยนวิธีการปลูกพืชใหม่เป็นแบบ “ป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง” และเกษตรผสมผสานเพื่อให้มีผลผลิตตลอดทั้งปี ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำสำรองสำหรับอุปโภค-บริโภค และการเกษตรได้อย่างพอเพียงในฤดูน้ำแล้ง เป็นตัวอย่างของความสำเร็จของการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ เกิดเป็นเครือข่ายการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน และขยายผลความสำเร็จสู่ชุมชนอื่นต่อไป



ตลอดระยะเวลากว่า 50 ปี ที่กลุ่มบริษัทฮอนด้าได้ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ฮอนด้ามีเจตนารมณ์มุ่งมั่นในการเป็นองค์กรที่สร้างสรรค์คุณค่าเพื่อสังคม และสนับสนุนกิจกรรมเพื่อสังคมมาโดยตลอด กองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทยจึงพร้อมสนับสนุน และช่วยเหลือพี่น้องชาวไทย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากภัยพิบัติอย่างต่อเนื่อง พร้อมร่วมสร้างสรรค์สังคมไทยและอยู่เคียงข้างคนไทยตลอดไป

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้