ปอร์เช่ 911 อาร์เอสอาร์ (911 RSR) ใหม่

Last updated: 30 พ.ย. 2566  | 

ปอร์เช่เปิดศักราชแห่งการประลองความเร็วให้แก่ฤดูกาลแข่งขัน 2017 ที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่ช้า ด้วยรถแข่ง GT รุ่นล่าสุดที่ผ่านการพัฒนาขึ้นใหม่หมดจด ปอร์เช่ 911 อาร์เอสอาร์ (911 RSR) ใหม่ ก่อกำเนิดตัวตนของรถสนามสายพันธุ์แกร่ง เพื่อลงชิงชัยตามข้อกำหนดของการแข่งขันรถแข่งรุ่น GT รายการ Le Mans 24 ชั่วโมง ผสมผสานเทคโลยีวิศวกรรมยานยนต์ล้ำยุค ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างน้ำหนักเบาพิเศษ นวัตกรรมแห่งอนาคตหลากหลายที่อัดแน่นอยู่ภายในขุมพลังเครื่องยนต์ 6 สูบนอน ขนาดความจุ 4.0 ลิตร ติดตั้งบริเวณด้านหน้าของเพลาล้อหลัง พร้อมระบบจ่ายเชื้อเพลิงตรงเข้าห้องเผาไหม้และระบบควบคุมการทำงานของวาล์วที่โดดเด่นด้วยประสิทธิภาพการทำงานชั้นเลิศ ปอร์เช่ 911 อาร์เอสอาร์ (911 RSR) ใหม่ จะถูกส่งลงสนามเพื่อประกาศศักดาแห่งความเกรียงไกรเป็นครั้งแรกในรายการแข่งขันรถยนต์ทางเรียบ Daytona 24 ชั่วโมง ช่วงเดือน มกราคม 2017


ด้วยงานออกแบบที่ยังคงเอกลักษณ์ความเป็นรถสปอร์ตสายพันธุ์ 911 อย่างไม่เปลี่ยนแปลง นี่คือวิวัฒนาการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์ของรถแข่งรุ่น GT จากปอร์เช่” Dr Frank-Steffen Walliser หัวหน้าส่วนงานมอเตอร์สปอร์ตของปอร์เช่ กล่าว ทั้งนี้รถแข่ง 911 อาร์เอสอาร์ (911 RSR) ใหม่ ได้รับการปรับปรุงและพัฒนาขึ้นอย่างสมบูรณ์แบบในทุกจุด ทั้งระบบช่วงล่าง โครงสร้างตัวถัง แนวคิดด้านอากาศพลศาสตร์ของรถ เครื่องยนต์และระบบส่งกำลัง ล้วนผ่านการออกแบบและ   ขัดเกลาขึ้นอย่างพิถีพิถันทุกขั้นตอน ผลลัพธ์ดังกล่าวช่วยให้ทีมดีไซเนอร์สามารถทำการติดตั้งชุดดิฟฟิวเซอร์หลัง        ขนาดใหญ่ พร้อมปีกหลังทรงสูงสำหรับการแข่งขันในฐานะรถแข่งสมรรถนะสูง ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากสุดยอดรถสนาม 919 ไฮบริด แอลเอ็มพี 1 (919 Hybrid LMP1) อุปกรณ์ดังกล่าวทำหน้าที่สร้างแรงกดและเพิ่มเติมประสิทธิภาพทางอากาศพลศาสตร์ให้แก่ตัวรถได้อย่างยอดเยี่ยม



สำหรับ 911 อาร์เอสอาร์ (911 RSR) ปอร์เช่ได้มุ่งเน้นในส่วนของขุมพลังเครื่องยนต์เป็นพิเศษ เพื่อการได้มาซึ่งแหล่งกำเนิดพละกำลังยุคใหม่ ในแบบของเครื่องยนต์ไร้ระบบอัดอากาศอันทันสมัยและมีน้ำหนักเบา ทีมวิศวกรของเรา    ทุกคนทุ่มเทพัฒนาอย่างเต็มความสามารถเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว” Dr Walliser อธิบายต่อไปอีกว่า “จากข้อกำหนดของการเข้าร่วมแข่งขัน LM-GTE ซึ่งวางหลักเกณฑ์ที่เปิดโอกาสให้มีความเท่าเทียมกันแม้ด้วยแนวคิดในการออกแบบที่หลากหลาย ทั้งยังครอบคลุมถึงลักษณะของแรงบิดที่มีความแตกต่างกันของเครื่องยนต์เทอร์โบและเครื่องยนต์ธรรมดา” ตามข้อจำกัดของขนาดความจุเครื่องยนต์อันเข้มงวด เครื่องยนต์ไร้ระบบอัดอากาศรุ่นใหม่ล่าสุดนี้ สามารถ       รีดพละกำลังมหาศาลออกมาได้ถึง 510 แรงม้า (375 กิโลวัตต์) ถ่ายทอดพลังผ่าน Shift paddles บนพวงมาลัยไปยัง        ชุดเกียร์ต่อเนื่อง 6 จังหวะ โครงสร้างผลิตจากแมกนีเซียม ส่งต่อไปยังพื้นถนนด้วยล้อขับเคลื่อนคู่หลังขนาดความกว้างถึง           31 เซนติเมตร เครื่องยนต์ 6 สูบนอนประสิทธิภาพสูงดังกล่าวผ่านการพัฒนามาจนถึงขีดสุด ซึ่งหลังจากนี้จะนำไปติดตั้งอยู่ในปอร์เช่ 911 จีที3 อาร์ (911 GT3 R) และ 911 จีที3 คัพ (911 GT3 Cup) ยนตกรรมสนามระดับหัวแถวของตระกูลรถแข่ง GT เช่นเดียวกัน



ในอดีตที่ผ่านมา ปอร์เช่สรรสร้างยานยนต์เปี่ยมสมรรถนะจากสายพันธุ์รถสปอร์ต 911 ในตำนาน ให้ออกมาเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของบรรดาผู้นิยมชมชอบความเร็วอยู่ไม่เคยขาด นับตั้งแต่การถือกำเนิดบนความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ของปอร์เช่ 911 จีที1 (911 GT1) ในปี 1996 หลังจากนั้นในปี 1998 911 จีที1 (911 GT1) สามารถคว้าชัยชนะครั้งที่ 16 จากการแข่งขันรายการ Le Mans 24 ชั่วโมงได้ ในฐานะรถแข่งรุ่น GT1 ที่ทำความเร็วได้สูงที่สุด




สำหรับ 911 อาร์เอสอาร์ (911 RSR) ใหม่ นับเป็นครั้งแรกของรถแข่งในระดับ GT จากปอร์เช่ ที่ได้รับการติดตั้งอุปกรณ์ช่วยเหลือสุดพิเศษระดับ state-of-the-art นั่นคือ ระบบหลีกเลี่ยงการชนด้วยสัญญาณเตือนจากเรดาห์ หรือ “Collision Avoid System” ให้ประสิทธิภาพในการทำงานที่ยอดเยี่ยมแม้อยู่ท่ามกลางความมืด รถแข่ง LMP prototypes คันนี้ สามารถตรวจสอบสิ่งกีดขวางได้ล่วงหน้าเพียงพอที่จะลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุได้เป็นอย่างดี ออกแบบโครงสร้างนิรภัย   ขึ้นใหม่ เพิ่มความปลอดภัยให้แก่นักแข่งด้วยจุดยึดเบาะนั่งเข้ากับตัวถังที่แข็งแรงมั่นคง แป้นเหยียบสามารถถอดและปรับเปลี่ยนตำแหน่งเพื่อให้เข้ากับสรีระของนักขับแต่ละคนได้อย่างเหมาะสม



ในแง่ของขั้นตอนการซ่อมบำรุง เป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างมากสำหรับปอร์เช่ 911 อาร์เอสอาร์ (911 RSR) ชิ้นส่วนตัวถังซึ่งสร้างขึ้นจากวัสดุคาร์บอนไฟเบอร์ สามารถถอดเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็วด้วยการดีไซน์รูปแบบการติดตั้งที่ชาญฉลาด ยิ่งไปกว่านั้น การปรับแต่งระบบช่วงล่างยังสามารถทำได้ด้วยวิธีการที่ง่ายดายและใช้ระยะเวลาที่น้อยลงอีกด้วย   



การตกแต่งลวดลายตัวถังภายนอกที่โดดเด่นสวยงามของปอร์เช่ 911 อาร์เอสอาร์ (911 RSR) เกิดขึ้นด้วยกรรมวิธีแบบใหม่ นับเป็นครั้งแรกในการเปลี่ยนแปลงทิศทางของงานดีไซน์ที่สื่อให้เห็นถึงความชัดเจนและแสดงออกซึ่งความแข็งแกร่งของปอร์เช่ในวงการมอเตอร์สปอร์ต เมื่อพิจารณาจากมุมสูงจะสามารถสังเกตเห็นตราสัญลักษณ์ของปอร์เช่ซึ่งประกอบด้วย     สีขาว แดง และดำ อันเป็นพื้นฐานได้อย่างเด่นชัด



ในฤดูกาล 2017 ที่กำลังจะมาถึงนั้น โรงงานปอร์เช่คาดหวังว่าจะสามารถดำเนินการจัดส่งรถแข่ง 911 อาร์เอสอาร์ (911 RSR) เข้าร่วมรายการแข่งขัน รวม 19 รายการ หรือคิดเป็นระยะเวลาที่วิ่งในสนามมากกว่า 140 ชั่วโมง ทั้งนี้ด้วยจำนวนรถแข่งของทีมโรงงานปอร์เช่จะต้องต่อสู้ขับเคี่ยวกับคู่แข่งในรายการแข่งขันรถยนต์ทางเรียบ FIA World Endurance Championship (WEC) รวมทั้งรายการแข่งขันสุดทรหดตลอด 24 ชั่วโมง ที่ Le Mans และ รายการ American IMSA Weathertech Championship โอกาสสำคัญนี้ถือเป็นการเปิดตัวรถแข่งปอร์เช่คันใหม่ล่าสุดสำหรับการลงชิงชัยในฤดูกาลที่เต็มไปด้วยความท้าทาย เปิดฤดูกาลสนามแรกของ IMSA ที่ Daytona วันที่ 28-29 มกราคม “เรามีการเตรียมพร้อมที่       ดีเยี่ยมสำหรับการแข่งขันในครั้งนี้” Marco Ujhasi หัวหน้าส่วนงานของ GT Works Sport ให้สัมภาษณ์ต่อไปว่า “นับตั้งแต่การลงสนามครั้งแรกที่ Weissach ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมานั้น เราได้ทำการวิ่งทดสอบเป็นระยะทางรวมถึง 35,000 กิโลเมตร ทั้งในสนามแข่งต่างๆ ทั่วทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือ เรียกได้ว่าเป็นการทุ่มเทพัฒนาที่มากยิ่งกว่ารถแข่งปอร์เช่ในรุ่น GT ของเราทุกคัน”


ข้อมูลทางเทคนิคของปอร์เช่ 911 อาร์เอสอาร์ (911 RSR) รุ่นปี 2017

แนวคิดหลักในการพัฒนารถแข่งแบบที่นั่งเดี่ยวสำหรับการแข่งขันในระดับ LM-GTE


น้ำหนัก/มิติตัวถัง

น้ำหนัก 1,243 กิโลกรัม (น้ำหนักพื้นฐานตามข้อกำหนดการแข่งขัน)

ความยาว 4,557 มิลลิเมตร (ไม่รวมลิ้นใต้กันชน ปีกหลัง ดิฟฟิวเซอร์)

ความกว้าง 2,042 มิลลิเมตร (เพลาล้อหน้า) / 2,048 มิลลิเมตร (เพลาล้อหลัง)

ฐานล้อ 2,516 มิลลิเมตร


เครื่องยนต์
แบบ 6 สูบนอน ระบายความร้อนด้วยน้ำ ตำแหน่งติดตั้งบริเวณด้านหน้าของเพลาล้อหลัง ขนาดความจุ 4,000 ลูกบาศก์เซนติเมตร (CM3) ระยะชัก 81.5 มิลลิเมตร ความโตของกระบอกสูบ 102 มิลลิเมตร กำลังสูงสุด 510 แรงม้า (375 กิโลวัตต์) ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดในการแข่งขัน เทคโนโลยี 4 วาล์วต่อสูบ ระบบจ่ายเชื้อเพลิงตรงเข้าห้องเผาไหม้ ระบบหล่อลื่นเครื่องยนต์แบบ dry sump lubrication ล้อช่วยแรงแบบ single mass flywheel ลิ้นปีกผีเสื้อควบคุมด้วยไฟฟ้า


ระบบเกียร์
ระบบส่งกำลัง 6 จังหวะแบบต่อเนื่อง เพลาส่งกำลังคู่วางตัวในแนวนอนพร้อมชุดเฟืองดอกจอก ควบคุมการเปลี่ยนอัตราทดด้วยอิเล็กทรอนิกส์ แป้นเปลี่ยนเกียร์ shift paddles บนพวงมาลัย โครงสร้างชุดเกียร์ผลิตจากวัสดุแมกนีเซียม เฟืองท้ายแบบ multi-disc self-locking พร้อม visco unit ชุดคลัทช์คาร์บอน 3 แผ่นสำหรับการแข่งขัน


โครงสร้างตัวถัง
ตัวถังน้ำหนักเบาด้วยการออกแบบผสมผสานระหว่างอลูมิเนียมและเหล็กกล้า หลังคาแบบถอดออกได้พร้อมติดตั้งบู๊ชสำหรับยกเพื่อเข้าถึงตัวนักแข่งในกรณีฉุกเฉิน ถังน้ำมันแบบ FT3 ติดตั้งบริเวณด้านหน้ารถ โครงสร้างนิรภัยเชื่อมติดกับตัวถัง เบาะนั่งสำหรับการแข่งขันตามมาตรฐาน FIA 8862-2009 ยึดติดกับตัวถัง เข็มขัดนิรภัยแบบ 6 ตำแหน่งพร้อมใช้งานร่วมกับระบบ HANS แป้นเหยียบแบบปรับระดับได้ ชิ้นส่วนตัวถังผลิตจากวัสดุ CFRP ให้ความสะดวกรวดเร็วในขั้นตอนการซ่อมบำรุงและถอดประกอบ ปีกหลังพร้อมจุดยึดแบบ “swan neck” ระบบยกตัวถังด้วยลม 4 จุด four-post air jack system พร้อมวาล์วควบคุมแรงดัน ระบบดับเพลิงควบคุมการทำงานด้วยอิเล็กทรอนิกส์ และ ระบบไล่ฝ้ากระจกบังลมหน้า


ระบบช่วงล่าง
ช่วงล่างด้านหน้า: ปีกนกคู่ โช้คอัพแบบ four-way vibration damper พร้อมคอยล์สปริงแบบคู่ (สปริง main และสปริง helper) เหล็กกันโครงแบบปรับการทำงานได้ ระบบพวงมาลัยเพาเวอร์แบบ electro-hydraulic


ช่วงล่างด้านหลัง: ปีกนกคู่พร้อมซับเฟรม โช้คอัพแบบ four-way vibration damper พร้อมคอยล์สปริงแบบคู่ (สปริง main และสปริง helper) เหล็กกันโครงแบบปรับการทำงานได้ ระบบพวงมาลัยเพาเวอร์แบบ electro-hydraulic ชุดเพลาส่งกำลังแบบ tripod 

ระบบเบรก
ระบบเบรกแบบ 2 วงจรอิสระหน้าและหลังปรับตั้งการทำงานได้
ระบบเบรกหน้า: คาลิเปอร์เบรก 6 ลูกสูบสำหรับการแข่งขัน ผลิตจากวัสดุอลูมิเนียมแบบชิ้นเดียว จากเบรกเหล็กกล้าพร้อมครีบระบายความร้อนขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 390 มิลลิเมตร ผ้าเบรกเกรดสำหรับการแข่งขัน ติดตั้งช่องดักอากาศระบายความร้อนระบบเบรก

ระบบเบรกหลัง: คาลิเปอร์เบรก 4 ลูกสูบสำหรับการแข่งขันพร้อมครีบระบายความร้อนขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 355มิลลิเมตร ผ้าเบรกเกรดสำหรับการแข่งขัน ติดตั้งช่องดักอากาศระบายความร้อนระบบเบรก



ล้อ/ยาง
คู่หน้า: ล้ออัลลอยด์แบบฟอร์จชิ้นเดียว ขนาด 12.5Jx18 offset 25 พร้อมระบบ centre lock nut ยางรถยนต์ Michelin slick 30/68-18

คู่หลัง: ล้ออัลลอยด์แบบฟอร์จชิ้นเดียว ขนาด 13Jx18 offset 37 พร้อมระบบ centre lock nut ยางรถยนต์ Michelin slick 31/71-18


ระบบไฟฟ้า
บันทึกข้อมูลด้วย Cosworth Central Logger Unit พวงมาลัย multi-functional ผลิตจากวัสดุ CFRP พร้อมหน้าจอแสดงผล แป้นเปลี่ยนเกียร์ shift paddles และระบบถอดพวงมาลัยแบบ quick release ระบบหลีกเลี่ยงการชน Collision Avoid-ance System ควบคุมการทำงานสำรองผ่านการเชื่อมต่อกับแบตเตอรี่ LiFePo4 ระบบไฟหน้าและไฟท้าย LED หมายเลขตัวรถแบบเรืองแสงและระบบ leader light system ไฟสองสว่างภายในห้องโดยสารแบบ black light กระจกมองข้างปรับไฟฟ้าพร้อมหน่วยความจำ ระบบตรวจสอบแรงดันลมยาง (TPMS) ติดตั้งระบบจ่ายน้ำดื่มสำหรับนักแข่งระบบปรับอากาศ       แผงสวิทช์ควบคุมการทำงานบนคอนโซลกลางพร้อมป้ายบอกฟังก์ชั่นการทำงานแบบ fluores-cent labelling

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้